บทเรียนจากเรื่องจริง EP.2 อุบัติเหตุที่ไม่อยากให้เกิด ย้อนรอยถังดับเพลิง CO2 ระเบิด

ขอย้อนรอยกลับไปยังเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 
ทางแอดมินขออนุญาตยกเคสนี้ เพื่อถอดบทเรียนครั้งสำคัญให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ถึงสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนั้น และสามารถป้องกันได้ แต่ก่อนอื่นๆ ขอแสดงความเสียใจและร่วมอาลัยถึงครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกครั้งนะคะ
ก่อนที่จะไปรู้จักถึงสาเหตุนั้น แอดมินขออธิบาย หลักการเบื้องต้นของถังดับเพลิงก่อนค่ะ
ปัจจุบันถังดับเพลิงในประเทศไทยมีหลายชนิด ในการดับไฟแต่ละประเภท A B C D และ K
ถังดับเพลิงที่เกิดเหตุในครั้งนั้น คือ ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นถังดับเพลิงชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก.
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซ ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีรส หนักกว่า อากาศ และมีได้หลายสถานะ ซึ่ง หากหายใจเอาก๊าซนี้เข้าไปในปริมาณมาก ๆ จะรู้สึกเปรี้ยวที่ปาก เกิดการระคายเคืองที่จมูกและคอ และอาจเสียชีวิตได้หากได้รับปริมาณที่มากเกินไป ด้วยคุณสมบัติ จุดเด่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซที่ไม่ติดไฟ และ ระเหยเป็นไอก๊าซ ไม่ทิ้งคราบสกปรก จึงมักนิยม มาใช้ในการบรรจุถังดับเพลิงประเภทหนึ่ง12

จากการวิเคราะห์บทเรียนจากผู้เชี่ยวชาญที่บริษัท สาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นจาก ปัจจัยดังต่อไปนี้
1.การบรรจุไม่ได้ตามมาตรฐาน ทำให้แรงดันที่บรรจุอยู่ในถังมากเกินไป
2. สภาพตัวถังดับเพลิงชำรุด ไม่สามารถรับแรงดันได้เท่าเดิม
3.กลไกเซฟตี้วาล์วของถังดับเพลิง ไม่อยู่ในสภาพที่ดี
สาเหตุที่บรรจุก๊าซเกินมาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากการบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงในถัง นั้น เป็นการบรรจุแบบก๊าซเหลว( Liquefied Gas )ลงไปในท่อก๊าซ ดังนั้น ภายใต้ความดันที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียล ภายในถังดับเพลิง มีสภาพเป็นของเหลวบางส่วน และ สามารถขยายตัวได้ถึง 1:535 เท่า (  Liquefied gas ) หากตั้งถังดับเพลิงทิ้งไว้ที่กลางแจ้ง เมื่อได้รับแสงแดด จึงทำให้อุณหภูมิที่ผิวถังสูงขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลให้แรงดันถึงจุดที่วาล์วนิรภัยของภาชนะรับไม่ได้ หากบรรจุก๊าซในอัตราส่วนที่เกินกำหนด  (Unsafe overfill ) ทุกครั้งก่อนบรรจุจะต้องปล่อยก๊าซของเก่าออกให้หมด และ ทาง บริษัทผู้บรรจุ ต้องควบคุมอัตราส่วนของการบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 0.667 ของปริมาตรถัง เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของ liquid Carbon dioxide ภายในถัง เมื่อได้สัมผัสกับแสงแดด และมีการตรวจสอบน้ำหนักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลังบรรจุทุกครั้งด้วยเครื่องชั่งที่แม่นยำและเที่ยงตรง ผ่านการสอบเทียบเสมอ  แต่อย่างไรก็ตาม หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในถังดับเพลิง เกิดได้รับความร้อนที่สูงมากเกินไป ที่ตัวถังภาชนะบรรจุ จะมีกลไกด้านความปลอดภัยของถังดับเพลิง ( Safety valve ) ที่ทำหน้าที่ปล่อยแรงดันที่สูงเกินกว่าวาล์วนิรภัยออกจนหมด เพื่อป้องกันการระเบิดของภาชนะถังดับเพลิง หากกลไกเซฟตี้วาล์วของถังดับเพลิง ไม่อยู่ในสภาพที่ดี หรือ ถูกดัดแปลง ก็อาจเป็นสาเหตุอีกด้านที่ ทำให้ไม่สามารถระบายก๊าซได้ทัน
อันเนื่องด้วย ภาชนะถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทยในปัจจุบัน มีวัสดุที่ใช้อยู่ 3 ประเภทด้วยกันได้แก่ เหล็ก เหล็กอัลลอย และ อลูมิเนียมอัลลอย โดยวัสดุแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกันทางโครงสร้าง และ ราคา ในอุบัติเหตุดังกล่าว จะเป็นเครื่องดับเพลิงชนิดเหล็ก  ที่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. โดยภาชนะบรรจุก๊าซดังกล่าวเป็นภาชนะบรรจุก๊าซทนความดันแบบไม่มีตะเข็บ ภาชนะถังต้องได้ผ่านการทดสอบเป็นประจำตามมาตรฐานอุตสาหกรรม เลขที่ มอก.358 ที่กำหนดไว้ หรือ มาตรฐาน เครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ เลขที่ มอก.881 แต่เนื่องด้วยภาชนะถังที่เป็นเหล็ก ซึ่งมีโอกาสเป็นสนิมได้ และ อาจถูกการกัดกร่อนภายใน จากฤทธิ์ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อผสมกับไอน้ำ หรือ ความชื้นภายในถัง กรณีหากเกิดการกัดกร่อน จะทำให้ผนังของถังบางลง และรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นจะยากต่อการตรวจสอบด้วยสายตา ถึงแม้ว่าภาชนะบรรจุถังนั้นจะผ่านการทดสอบแรงดันน้ำ (Hydrostatic ) ก็อาจจะเกิดรอยร้าวภายในได้ โดยช่วงแรกของรอยร้าว ภาชนะถังอาจมีความแข็งแรงพอรับแรงดันได้ แต่เมื่อรอยกัดกร่อน แตกร้าวนั้นขยายตัวขึ้น ภาชนะถังบรรจุอาจเกิดการระเบิด ทำให้เนื้อโลหะฉีกขาด เพราะทนรับความดันภายในไม่ได้  หากสภาพตัวถังดับเพลิงชำรุด ไม่สามารถรับแรงดันได้เท่าเดิม

ดังนั้น เพื่อป้องกัน เพื่อป้องกันเหตุ การระเบิดของถังดับเพลิง ดังกล่าว แล้วในฐานะที่น้องแอดมินเป็นห่วง พี่ๆผู้ใช้งาน รวมถึงน้องๆที่ต้องฝึกทดสอบดับเพลิง เราจะต้อง
1. เลือกบริษัทที่ได้รับมาตรฐานในการบรรจุก๊าซ
2. เลือกถังดับเพลิงที่ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม
3. ตรวจสอบน้ำหนักของก๊าซ (ต้องไม่เกินมาตรฐานเมื่อเทียบกับปริมาตรของถัง)
4. ตรวจสอบ เครื่องหมายทดสอบถังภาชนะบรรจุ และรอบเดือนปี ที่ทดสอบ รวมถึงสภาพถัง
5. ตรวจสอบว่ามี วาล์วนิรภัย บนวาล์วถังครบถ้วนหรือไม่
6. ดูแลอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไม่ให้ชำรุด
7. ขอให้ศึกษาวิธีการใช้งานที่ถูกต้องและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
และที่สำคัญ ต้องจัดเก็บถังในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเท, ภาชนะตั้งตรงในแนวดิ่ง, ห้ามวางนอน และแยกถังดับเพลิงที่ใช้แล้วกับถังที่ยังเต็มออกจากกัน ถังดับเพลิงคาร์บอนไดออกไซด์( CO2 ) จึงมักติดตั้งภายในอาคาร ไม่โดนแสงแดดโดยตรง ทางแอดมินหวังว่า จากบทเรียนในครั้งนี้ทำให้พี่ๆ และทุกท่านที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในการใช้ถังดับเพลิง และไม่เกิดอุบัติเหตุแบบนี้ซ้ำอีกค่ะ 

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest